“เศรษฐกิจไทยปีกระต่าย”กระโดดให้ไกลเพื่อเข้าสู่ช่วง “ฟื้นฟู”
มองข้างหน้าปีกระต่ายกระโดดไหวไหม “เศรษฐกิจไทยโตสวนโลก”
ภายใต้สัญญาณ “ความผันผวน” ของภาพรวมเศรษฐกิจ และตลาดการเงินทั่วโลกที่ทวีความรุนแรง และคาดเดาได้ยากมากยิ่งขึ้นในปี 2566 สำนักวิเคราะห์วิจัยเศรษฐกิจส่วนใหญ่ ยังคงคาดการณ์ว่า…
“เศรษฐกิจไทยปีกระต่าย” จะสามารถฝ่ามรสุมจากปัจจัยลบที่รุมกระหน่ำ และเติบโตได้ต่อเนื่อง ด้วยอานิสงส์จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หวนกลับมา การใช้จ่ายในประเทศที่ปรับดีขึ้น เมื่อรัฐบาลเปิดให้ “ทำมาหากิน” ได้ตามปกติอีกครั้ง หลังโควิด-19 คลี่คลาย แต่เราคงไม่สามารถประมาทหรือชะล่าใจ เพราะ “วิกฤติ” ภายในยังไม่ได้จางหายไปอย่างสิ้นเชิง และยังมี “วิกฤติเศรษฐกิจ และความขัดแย้งของการเมืองโลก” เข้ามาเป็น “ภัยคุกคาม” เป็นวิกฤติซ้อนวิกฤติ
ปี 2566 กระต่ายจะกระโดดให้ไกลเพื่อเข้าสู่ช่วง “ฟื้นฟู” หลังยุคมืดได้อย่างไร ความเสี่ยงที่ต้องระวังอยู่ที่ไหน ติดตามจาก “สัมภาษณ์พิเศษ” รมว.คลัง และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อเป็น “ไกด์ไลน์” ในการดำเนินชีวิต และทำธุรกิจในปีใหม่นี้…
เราเริ่มต้นมองทิศทางเศรษฐกิจปี 2566 กับ รมว.คลังก่อน ซึ่ง ดร.อาคม ให้ความเห็นว่า “ในปีหน้าภาพรวมเศรษฐกิจโลกจะไม่ค่อยสดใส เพราะอยู่ในช่วงเศรษฐกิจถดถอย สาเหตุหลักมาจากปัจจัยความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน ส่งผลให้ราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้นมาก และมีผลต่อเนื่องทำให้ราคาอาหารสูงขึ้นตาม และเมื่อความขัดแย้งยืดเยื้อ จึงส่งผลต่อภาวะเงินเฟ้อให้ปรับสูงขึ้นรวดเร็ว ขณะที่กำลังซื้ออ่อนล้าลง”
สำหรับเศรษฐกิจไทย แตกต่างจากเศรษฐกิจโลก เพราะเรากำลังฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด การบริโภคภายในประเทศเริ่มกระเตื้อง และการเดินทางท่องเที่ยว ทั้งจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ และการท่องเที่ยวภายในประเทศของคนไทยกลับมาคึกคัก ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป และมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังคาดการณ์ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของปี 2566 จะขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.8% คิดเป็นมูลค่า 18.8 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ซึ่งจีดีพีขยายตัว 3.2% มูลค่า 17.63 ล้านล้านบาท ซึ่งถือว่ามูลค่าของเศรษฐกิจของไทยได้กลับมาเติบโต และอยู่ในระดับสูงกว่าก่อนวิกฤติโควิดแล้ว โดยปี 2562 ก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 จีดีพีขยายตัว 2.2% และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ 16.9 ล้านล้านบาท
“จากตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ จะเห็นได้ว่ามูลค่าเศรษฐกิจของประเทศไทย เติบโตอย่างต่อเนื่อง เป็นลักษณะค่อยๆฟื้นตัว ซึ่งรัฐบาลจะพยายามประคับประคองให้ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ยั่งยืน และมั่นคง”
ดร.อาคม กล่าวต่อว่า สำหรับปัจจัยที่จะส่งเสริมให้เศรษฐกิจไทยปี 2566 เติบโตตามเป้าหมายที่กำหนดไว้นั้น ปัจจัยแรกมาจากภาคบริการและท่องเที่ยวที่กลับมาฟื้นตัวต่อเนื่องมาจากปี 2565 โดยคาดหวังว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวไทยทะลุ 21.5 ล้านคน จากปี 2565 ซึ่งขณะนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติมาเที่ยวไทยทะลุ 10 ล้านคนแล้ว
“เมื่อภาคท่องเที่ยวและภาคบริการฟื้นตัว ก็จะส่งเป็นลูกโซ่ไปยังธุรกิจต่อเนื่องต่างๆ ให้เริ่มกลับมาเปิดกิจการ ก่อให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจในหลายภาคส่วน แต่การดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนก็ต้องปรับตัว ลดต้นทุน นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ เพื่อให้สอดรับกับวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) แม้การแพร่ระบาดโควิดจะคลี่คลาย แต่การป้องกันจะยังคงเข้มข้นเช่นเดิม ขณะเดียวกันก็ต้องปรับธุรกิจให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันมาใส่ใจสุขภาพ และรองรับสังคมผู้สูงอายุมากขึ้น ขณะที่ในส่วนของภาครัฐ จะเร่งขับเคลื่อนให้เกิดการลงทุน ผลักดันเม็ดเงินให้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะในเขตพัฒนาพิเศษ
ภาคตะวันออก (EEC) ต้องเร่งการลงทุนอย่างจริงจังในปีหน้านี้ หลังจากรัฐบาลได้อนุมัติโครงการลงทุนเป็นที่เรียบร้อย”
“การส่งออกปี 2566 อาจชะลอตัวลงบ้าง หรือขยายตัวเท่ากับปี 2565 เพราะเศรษฐกิจโลกถดถอย ซึ่งต้องดูปัจจัยค่าเงินบาทด้วย เพราะหากเงินบาทอ่อนค่า มูลค่าการส่งออก็จะเพิ่มขึ้น แต่ปริมาณไม่เพิ่ม โดยเชื่อว่าฝ่ายที่เกี่ยวข้องการส่งออก จะผลักดันให้ไทยส่งออกได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแน่นอน”
ส่วนความท้าทายในอนาคตอันใกล้ และทุกคนต้องปรับตัว เรื่อง แรกคือ การเปลี่ยนแปลงจากเทคโนโลยีดิจิทัลที่เข้ามา
มีบทบาทต่อการดำรงชีวิตประจำวัน ซึ่งทุกภาคส่วน ต้องปรับใช้กับธุรกิจให้สอดคล้องไปด้วยกัน อีกทั้งควรนำมาใช้เพื่อลดต้นทุนการดำเนินงานด้วย ขณะที่เรื่องที่ 2 คือ การทำธุรกิจให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งนับจากนี้ไปจะเห็นการลงทุนการดำเนินธุรกิจ คำนึงถึงการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเรื่อยๆ
แนะนำข่าวเศรษฐกิจ อ่านเพิ่มเติมคลิ๊กเลย : กรุงศรีคาดเงินบาทสัปดาห์นี้ซื้อขายในกรอบ 37.60-38.25